ดวงดาวและอวกาศ

ดวงดาวและอวกาศ

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวสัปดาห์ที่ 5

ความหมายของคำ "สารานุกรม"

"สารานุกรม" เป็นหนังสือรวมเรื่องราวต่างๆคำนี้ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ "สาร" และ "อนุกรม" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. ๒๕๒๕ ให้นิยามของคำ "สาร" ว่า แก่นเนื้อแท้ ส่วนสำคัญ ข้อใหญ่ใจความ ถ้อยคำคำว่า "อนุกรม" หมายถึง ลำดับ ระเบียบ ชั้นสองคำนี้รวมกันเข้าโดยวิธีสมาสเป็นคำเดียวคือ "สารานุกรม" หมายถึงเรื่องราวที่เป็นเนื้อแท้เป็นแก่นสารนำมาเรียบเรียงโดยใช้ถ้อยคำ จัดระเบียบเรื่องแต่ละเรื่องตามลำดับให้อยู่ด้วยกันในหนังสือเล่มเดียวกัน หรือหลายเล่มแต่เป็นชุดเดียวกันคำนี้ใช้เรียกชื่อหนังสืออ้างอิง หรือหนังสืออุเทศประเภทหนึ่ง ลักษณะทั่วไปของหนังสือนี้ คือ อธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่มนุษย์ได้เรียนรู้ และได้คิดขึ้นตั้งแต่โบราณสมัยจนถึงปัจจุบัน มีทั้งความรู้ที่จัดเป็นวิชาหรือเป็นศาสตร์ และความรู้ทั่วๆ ไปที่ควรรู้หรือน่ารู้ ผู้จัดทำสารานุกรม จะจัดหมวดหมู่ และลำดับความสำคัญของคำอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ เรียงลำดับอยู่ในเล่มเดียวกันหรือชุดเดียวกันตามลำดับความสำคัญของแต่ละวิชาบ้าง ตามลำดับความสัมพันธ์ของแต่ละวิชา และสาขาวิชาในกลุ่มวิชานั้นๆ บ้างตามลำดับตัวอักษรตัวแรกของคำซึ่งใช้เรียกชื่อวิชาหรือเรื่องราวนั้นๆ บ้าง
หนังสือสารานุกรมเป็นหนังสือซึ่งผู้มีความรู้รับรองกันทั่วไปว่าเป็นหนังสือซึ่งเชื่อถือได้ แม้ว่าสารานุกรมบางเล่มจะมีข้อผิดพลาด หรือล้าสมัยเพราะไม่มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลใหม่ๆ ให้ทันกาลเวลา และความก้าวหน้าทางวิชาการผู้จัดทำหรือผู้รวบรวมสารานุกรมจะเลือกสรรเรื่องราวที่ผู้มีความรู้เชื่อถือได้เป็นผู้เขียน มีหลักฐานของการค้นคว้า นำไปอ้างอิงได้ มีวิธีเรียบเรียงซึ่งทำให้สามารถค้นเรื่องราวที่ต้องการรู้ได้อย่างรวดเร็ว เช่น มีดัชนีค้นเรื่องอยู่ท้ายเล่ม หรือในเล่มสุดท้ายของชุด มีการเรียงเรื่องตามลำดับตัวอักษรตัวแรกของคำที่เรียกเรื่องราวนั้นๆ เป็นต้น
การจัดทำหนังสือรวมวิชาความรู้ในสมัยโบราณนั้น เท่าที่ทราบและมีหลักฐานปรากฏว่านักการศึกษาชาวโรมันชื่อ พลินี (Pliny) ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๕๖๖-๖๒๒ เป็นผู้จัดทำขึ้นเขาเรียกหนังสือของเขาว่า ประวัติธรรมชาติ (Natural History) เป็นหนังสือชุด มี ๓๗ เล่ม ๒,๔๙๓ บท และมีเรื่องราว ๒๐,๐๐๐ เรื่อง รวมเรื่องดาราศาสตร์ โลหวิทยา ภูมิศาสตร์ สัตวศาสตร์แพทยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประดิษฐกรรม ศิลปกรรม พืชกรรม เวทมนตร์คาถา ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เขาไม่ได้แต่งเอง หากรวบรวมจากหนังสือต่างๆ ที่ผู้รู้หลายร้อยคนเขียนไว้แล้ว พลินีกล่าวไว้ในคำนำของหนังสือชุดนี้ว่า เรื่องของเขามีเรื่องราวทุกเรื่องทุกวิชาที่อยู่ในวงจรการศึกษา ซึ่งชาวกรีกเรียกหนังสือที่รวมวิชาเหล่านี้ว่า เอนไซโคลปีเดีย (Encyclopaedia)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น